ตำนานการใช้งานโปรแกรมผลิตสื่อสิ่งพิมพ์

ชีวิตจับพลัดจับพลูยังไงก็ไม่รู้ได้ มีโอกาสจับเครื่อง mac เป็นครั้งแรกเมื่อตอนอายุ ๑๗ (พ.ศ. ๒๕๓๙) แล้วโปรแกรมแรกที่หัดใช้คือ โปรแกรมจัดหน้าหนังสือ!

อีแป้นยกมือทาบอกแล้วถามว่า โปรแกรมจัดหน้าหนังสือคืออะไร...

โปรแกรมจัดหน้าหนังสือคือโปรแกรมผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ชนิดหนึ่ง ตัวที่ผมคุ้นเคยมีชื่อว่า Adobe PageMaker (ล้ำมั้ยล่ะ)

จำได้ว่าอาจารย์พระมหาบวร วัดอาวุธวิกสิตาราม ให้ผมซึ่งในขณะนั้นเป็นสามเณรน้อยช่วยทำหนังสือสวดมนต์ของวัด พอผมนั่งหน้าคอมพิวเตอร์แบบงงๆ ท่านก็สอนการใช้งาน PageMaker ให้คร่าวๆ
ตอนนั้นยังใช้เวอร์ชั่น 4 บน Apple Macintoch classic II จอขาวดำ...ในตำนาน

ภายใต้ระบบปฏิบัติการ OS 6 !!! ...ในตำนาน (อีกเช่นกัน)



ทั้งเครื่องทั้งตัวโปรแกรม ช้าและหน่วงชนิดคนสมาธิสั้นอาจใจขาดตายได้ แต่ในยุคนั้นถือว่าเป็นระบบที่มหัศจรรย์มากเลยแหละ เพราะเป็นคอมพิวเตอร์เจ้าแรกที่ทำงานด้วยการแสดงผลแบบกราฟฟิกและสั่งงานผ่านเมาส์

ที่สำคัญกว่านั้นคือ มันใช้งานกับภาษาไทยได้ดีเยี่ยม




หันไปมองคอมพิวเตอร์ IBM ที่ตั้งอยู่ใกล้กัน ยังใช้ระบบ DOS 6 บนจอเขียว จะใช้ทีก็ต้องเสียบแผ่นเข้าไป เวลาทำงานก็ต้องคีย์คำสั่งมหัศจรรย์อยู่เลย




สามสี่ปีต่อมา ก็ได้ PC ที่ติดตั้ง Windows 3.1 มาให้ใช้ เป็นครั้งแรกที่ผมได้สัมผัส Adobe PageMaker บนฝั่งวินโดว์ ซึ่งก็เป็นเวอร์ชั่น 4 ที่คุ้นเคย




แต่ถ้าอีแป้นรู้อีแป้นคงจะอกแตกตายเป็นแน่แท้ เพราะประสิทธิภาพการทำงานบนฝั่งวินโดว์เทียบกันไม่ติดเลยกับฝั่งแมค ใช้ไปต้องเซฟไป เพราะไม่รู้ว่าวินาทีถัดไปมันจะเดี้ยงแล้วก็กวาดเอางานที่ทำไว้ซะดิบดีหายตามไปด้วยหรือเปล่า ข้างเมาส์ของพี่วินฯ ในยุคนั้นก็ลอยเคว้งคว้างเวลาใช้ก็จะเหมือนบังคับทุ่นเล็กๆที่ลอยอยู่บนพื้นน้ำ ต้องค่อยๆ ขยับ เล็ง และคลิกหรือลาก...

ทรมานทรกรรมเหลือแสน

ที่ต้องเบือนหน้าหนีคือ PageMaker บน Windows ไม่รู้จักภาษาไทย และไม่มีโปรแกรมใดๆ ที่จะช่วยให้มันใช้งานกับภาษาไทยได้ ดังนั้นการใช้งานบนวินโดว์ จึงเอวังแต่เพียงเท่านั้น
ไม่นาน Adobe ก็พัฒนาเวอร์ชั่น 5 ออกมาให้ใช้กันทั้งฝั่งแมคและวินโดว์




เวอร์ชั่นนี้ผมแทบไม่ได้แตะเลย นอกจากเปิดขึ้นมายลโฉมเล่นๆ แล้วก็ปิดไป เพราะมันใช้งานกับภาษาไทยไม่ได้ และดูเหมือนว่าไม่มีบริษัทไหนทำตัวเสริมออกมาให้มันใช้งานกับภาษาไทยได้

การจัดหน้าหนังสือในตอนนั้นก็เลยต้องใช้ PageMaker 4 บนแมคต่อไป ดีหน่อยที่ตอนนั้นได้แมคเครื่องใหม่มาใช้ เป็นรุ่นจอสี (จำรุ่นไม่ได้แล้ว) มาพร้อมกับ OS 7.6 ประสิทธิ์ภาพเร็วขึ้นมานิดหนึ่ง

ยุควินโดว์ 95 มาแรง PageMaker 6 ก็เฟืองฟู

พอไมโครซอฟพัฒนา Windows 95 ยัดลงใน PC ด้วยความเร็วปรู๊ดปร๊าดของมัน ทำให้ผมหันหลังให้ Mac อย่างเด็ดขาด ประกอบกับตอนนั้น Adobe ก็พัฒนา PageMaker 6 ออกสู่ตลาด นักพัฒนาไทยเองก็เด้งรับด้วยการพัฒนา โปรแกรม PageMaster 97 เพื่อช่วยให้ PageMaker 6 ใช้งานกับภาษาไทยได้





ไม่นาน PageMaker 6.5 ก็ออกมาตีคู่ไปกับ Windows 98

เจ้าตัวนี้ครองแชมป์ยาวนานที่สุด ผมใช้ตัวนี้อยู่ห้าหกปี ซึ่งถือว่ายาวนานมาก

พอเข้ายุค WindowsME ต่อด้วย XP พี่ PageMaker ก็ถึงคราวตกอับในหมู่ผู้ใช้ชาวไทย เพราะ PageMaster 97 โปรแกรมตัดคำภาษาไทยไม่ได้รับการพัฒนาต่อให้ใช้กับ Windows ME และ XP เมื่อค่ายต้นสังกัดพัฒนา PageMaker 7 ออกมา จึงแทบไม่มีใครแล

ถ้าจะใช้ PageMaker 7 ก็ต้องทำเหมือนพิมพ์ดีดคือ ออกแบบตัวหนังสือและการจัดวางทุกอย่างให้ลงตัวไปทีเดียว พอพิมพ์เนื้อหาไปจนชิดชอบแล้วก็ต้องกด shift + enter เพื่อปัดขึ้นบรรทัดใหม่เอง ทำอย่างนี้เรื่อยไปทุกบรรทัด (ลองนึกดูว่าถ้าเนื้อหายาวสักร้อยหน้า ต้องนั่งเคาะทุกบรรทัด พอบรรณาธิการหรือลูกค้าสั่งแก้ แก้น้อยไม่กระทบมาก แต่ถ้าแก้เยอะๆ นรกก็มาเยือนละทีนี้ เพราะมันจะขยับยับเยิน ต้องมานั่งเคาะบรรทัดใหม่ทั้งหมด)



ผมเองจึงยังคงใช้ PageMaker 6.5 ในวินโดว์ 98 ต่อไปอย่างพิสมัยในดวงจิต

จนกระทั่งมีบริษัทหนึ่งทำโปรแกรม ก.ไก่ 2002 โปรแกรมตัดคำสำหรับ PageMaker 7 บนวินโดว์ออกมา เจ้าโปรแกรม ก.ไก่นี้ ทางผู้พัฒนากลัวว่าจะมีการแคร็กโปรแกรม จึงได้ทำฮาร์ตล็อกมากันไว้ด้วย เวลาใช้งานโปรแกรม ก็ต้องเสียบฮาร์ตล็อกนี้ไว้ที่ช่อง USB โปรแกรมถึงจะทำงาน สนราคาโปรแกรมและฮาร์ตล็อกที่ 4,500 บาท

ในเมื่ออยากใช้ ผมก็ต้องซื้อละครับ

ถามว่าทำงานดีไหม

โปรแกรมทุกตัวบนวินโดว์สะกดคำว่า “เสถียร” เป็นที่ไหนล่ะ ถ้าไม่ Save บ่อยๆ หายนะก็จะมาเยือนได้ทุกขณะจิตแหละพ่อคุณเอ๋ย

ยิ่งพอใช้ควบคู่กับโปรแกรมตัดคำไทย ก็ยิ่งแล้วใหญ่ ใช้ไปได้สักสามสี่ชั่วโมง มันก็จะเกิดอาการ “มึน" ไม่ตอบสนองการทำงานใดๆ ต้องปิดโปรแกรมทั้งหมด แล้วเปิดใหม่ ถึงจะใช้งานได้...อีกสักพัก...

และแล้ว PageMaker ก็ค้างเติ่งอยู่ที่เวอร์ชั่น 7 เพราะถึงคราวตีบตัน ไปต่อไม่ได้

ปี 2548 ผมเข้าไปทำงานในสำนักพิมพ์แถวประชาอุทิศ ในตำแหน่งบรรณาธิการ ทำให้มีโอกาสได้สัมผัสกับ Mac และ OS ตัวใหม่ในรอบเกือบสิบปีที่นั่น ยิ่งไปกว่านั้น ก็ยังได้สัมผัสกับโปรแกรมจัดหน้าตัวใหม่ที่ชื่อว่า InDesign เป็นครั้งแรก

จาก Adobe PageMaker เข้าสู่ยุค Adobe InDesign CS

ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นกับ PageMaker เมื่อสตีฟ จ็อป โยนระบบ Mac OS ซึ่งตอนนั้นสิ้นสุดที่เวอร์ชั่น 9.2 ทิ้ง แล้วพัฒนาระบบปฏิบัติการตัวใหม่ภายใต้ชื่อ OS X 10.0

ขณะที่ Adobe ก็ไม่พัฒนา PageMaker ต่อ ทำให้มันติดแหง็กอยู่ใน Mac OS 9.2 ไม่ได้ผุดได้เกิดอีกบน OS X อีกต่อไป

แล้วก็ปฏิสนธิโปรแกรมตัวใหม่ชื่อ ​InDesign CS ขึ้นมา หน้าตาและการใช้งานของมันก็คล้ายๆ Illustator ผสม PageMaker




ครั้งแรกที่ผมรู้จัก InDesign CS นั้น Adobe พัฒนามันมาถึงเวอร์ชั่น 2 แล้ว แต่ทั้ง Mac และ PC ก็ยังเจอปัญหาซ้ำรอยเดิม นั่นคือใช้งานกับภาษาไทยไม่ได้ วรรณยุกต์ลอย ไม่ตัดคำภาษาไทยให้ ถ้าหากจะทำงานกับภาษาไทยก็ต้องซื้อโปรแกรมเสริมมาติดตั้ง เรียกว่าโปรแกรม TSP ขายพร้อมกับฮาร์ตล็อกในราคาแพงหูดับ 5,500 บาท

ที่เครื่องของสำนักพิมพ์ มันถูกติดตั้งพร้อมใช้งานอยู่ในเครื่อง แต่ไม่มีใครกล้าใช้มัน หนึ่งนั้นเพราะพนักงานจัดหน้า ไม่มีเวลามานั่งเรียนรู้การใช้งาน สองคือหากใช้มันทำหนังสือสักเล่มแล้วส่งไปทำแม่พิมพ์ที่เรียกว่า เพลต แล้วเกิดมีปัญหาโน่นนี่นั่นขึ้นมา อาจจะต้องเสียเวลาและเสียสมองมางมโข่งกันยกใหญ่ หรือไม่ก็ถึงขั้นนั่งจัดใหม่ ซึ่งไม่คุ้มเสีย

แต่ผมเป็นบรรณาธิการ หน้าที่หลักของผมไม่ได้อยู่ที่ต้องมานั่งจัดหน้าหนังสือ พอมีเวลาผมจึงเริ่มเรียนรู้มัน แล้วก็พบว่า มันใช้งานง่าย ยืดหยุ่นและทำอะไรได้มากกว่า PageMaker ที่ตัวเองเคยปลื้มนักหนาเสียอีก

ผมทดลองใช้และทำหนังสือออกมาเล่มหนึ่ง แล้วทดลองส่งไปทำเพลต... สำเร็จ! ไม่มีปัญหายุ่งยากอะไรเลย

ตรงกันข้าม PageMaker เสียอีกที่มีปัญหาจุกจิกมากมายในขั้นตอนการทำเพลต
นั่นจึงเป็นที่มาของการปฏิวัติการจัดหน้าหนังสือด้วย InDesign ในสำนักพิมพ์แห่งนั้น
ปลายปี 2551 การปลดแอกภาษาไทยครั้งใหญ่ในวงสิ่งพิมพ์ ก็เกิดขึ้นเมื่อ Adobe InDesign CS 4 ถูกพัฒนารู้จักภาษาไทย ทำให้ผู้ใช้งานทั่วไปในบ้านเราใช้งานได้โดยไม่ต้องพึ่งโปรแกรมตำคำภาษาไทยราคาแพงลิบลิ่วอีกต่อไป

ปัจจุบัน Adobe InDesign พัฒนามาถึงเวอร์ชั่น CC 2015 (v.10) แล้ว ขณะเดียวกัน ก็ดูเหมือนว่าจะมาถึงจุดอิ่มตัวอีกครึ่งหนึ่งแล้ว เพราะนับตั้งแต่เข้าเวอร์ชั่น CC ก็แทบไม่มีอะไรใหม่ให้ตื่นตาตื่นใจอีกเลย นอกจากโลโก้ไตเติลเข้าโปรแกรมที่เปลี่ยนได้เปลี่ยนดี เปลี่ยนทุกอัพเดต

Macbook pro ปี 2009 ของผมจึงยังคงใช้ Adobe InDesign CC 2014 อยู่ และไม่เห็นความจำเป็นว่าจะต้องอัพเดต ไปเป็น CC 2015 เพราะไม่ได้ทำงานด้านออกแบบสิ่งพิมพ์โดยตรงแล้ว นานๆ ก็จะใช้งานที นับแล้วปีหนึ่งก็ได้ทำหนังสือหรือสิ่งพิมพ์จริงๆ จังๆ สักครั้งสองครั้งเท่านั้นเอง




ถามว่า ผมเรียนรู้การใช้งาน ทั้ง PageMaker และ InDesign มาจากไหน นอกจากอาจารย์มหาบวรสอน PageMaker ให้คร่าวๆ ในคราวใช้ครั้งแรกแล้ว ก็ไม่มีใครสอนอีกเลย ความเชี่ยวชาญล้วนเกิดจากการลองผิดลองถูก แส่ แถทำไปเรื่อย บางวันผ่านร้านหนังสือก็แวะเข้าไปเปิดๆ หนังสือคู่มือการใช้งาน แล้วก็จำเอามาทำ

พอมีปัญหาอะไรสักอย่างขึ้นมาจากการใช้งาน เราก็มั่วไปจนเจอทางแก้จนได้

ปัจจุบันผมไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์แล้ว ความรู้ทุกที่สั่งสมไว้ ก็เริ่มจะลางๆ เลือนๆ ใครอยากจะเรียนเพื่อนเอาไปประกอบอาชีพ ผมยินดีสอนให้นะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น