ปากกาหมึกซึม Hero 001 และ 007

(ต่อจากตอนที่แล้ว)

มาดู Hero วัยหวานกันบ้าง
แท่งนี้มีชื่อรุ่นว่า FPS-007 (ยังก๊ะเจมส์ บอนด์) มาในรูปลักษณ์ผอมเรียว ทำจากพลาสติกโปร่งแสง มีเฉพาะหัวปากกาที่เป็นโลหะ ตรงโคนที่จับเป็นร่องเว้าเข้าไปเพื่อให้จับปากกาได้ถนัดและถูกวิธีมากขึ้น



ตัวนี้มาพร้อมกับโปร่งสูบหมึกแบบไซริงส์ ดึงก้านสูบขึ้นได้เลย ถือว่าทำออกมาเอาใจวัยเรียนขนานแท้ ราคาศึกษาภัณฑ์ขายอยู่ที่ 38 บาท ขาดตัว



วิธีสูบหมึกสำหรับปากกาที่มีโปร่งทำได้สองอย่างคือ ดึงโปร่งออกมา แล้วสูบหมึกจากขวด

หรือวิธีที่สอง เสียบโปรงไว้กับตัวปากกาตามปกติ จุ่มหัวปากกาลงในขวดหมึก แล้วก็ดึงก้านโปร่งขึ้นเพื่อสูบหมึกเข้าไปในตัวหลอด ใช้ผ้าหรือกระดาษชำระเช็ดหัวปากกาที่เลอะหมึก แล้วก็เขียนได้เลย

วิธีสุดท้ายสำหรับคนที่ไม่อยากเปื้อนคือ ซื้อหลอดหมึกสำเร็จรูปมาเสียบซะเลย

ส่วนผม ใช้วิธีแรกครับ

เติมหมึกเสร็จก็วางปากกาไว้ แล้วไปทำอย่างอื่นเป็นนานสองนาน นานจนลืม พอกลับมา ปรากฏว่าหมึกยังไม่ซึมมาถึงหัวปากกา ...ไม่เป็นไร ของเขายังใหม่ หมึกยังไม่ชินทาง ก็เลยต้องดันก้านสูบไล่หมึกให้ไหลไปถึงหัวปากกาด้วยตัวเอง

พอจดปากกาลงวาดอักษร ก็ต้องอุทาน อุ๊... คุณพระ! (อีกแล้ว)
แต่ไม่ใช่เพราะเขียนลื่นหรอกนะครับ แต่มันฝึด ฝึดได้ใจเลยและ เวลาลากเส้นไป คมของหัวปากกา (nib) ครูดกระดาษดังแครกๆ เข้าใจว่าร่องจ่ายหมึกที่หัวปากกามันไม่สนิทกันดี ทำให้กลายเป็นแง่งขูดกับกระดาษ





ความที่ร่องจ่ายหมึกไม่แนบสนิทกันดีนี่เอง (น่าจะเป็นความจงใจของผู้ผลิต) รวมทั้งส่วนหัวที่กระจายหมึกก็เป็นรูปอุ้งน้ำหรือรูปเหนียงไก่ ทำให้หมึกที่ไหลลงสู่กระดาษ ทะลักลงมาไม่ยั้ง ก็เลยกลายเป็น "ปากกาหมึกซึมเวอร์” คิดอีกมุมก็สะใจดี ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังใช้ปากกาคอแร้งหรือสปีดบอล...ยังงั้นเลย

สำหรับตัวนี้ชอบรูปลักษณ์ที่ดูทันสมัย ด้ามเรียวสวย น่าหยิบจับดี การออกแบบทุกส่วนลงตัวดีมาก มาตกม้าตายเอาตรงจุดสำคัญเท่านั้นคือ Nib หรือหัวปากกาที่กินกระดาษหนักมาก...

เฮ้อ เสียของจริงๆ กับ Hero FPS-007

………

ตัวสุดท้าย Hero 001 สีน้ำเงิน ทำจากโลหะอะไรสักอย่างเพราะเบามาก ดูไกลๆ แล้วการออกแบบโดยภาพรวมถือว่าดูดีทีเดียว แต่ถ้าจะจับขึ้นมาเสพความเนี้ยบละก็ ขอให้นึกถึงราคาเข้าไว้...

จะเอาอะไรมากกับปากกาหมึกซึม ด้ามละ 38 บาท
ด้ามละ 380 บาท ณ พ.ศ.นี้ ยังหาที่เนียบยาก
ถ้าด้ามละ 3,800 นั่นก็ว่าไปอย่าง...



แต่ก็อดตำหนิรุ่นนี้ไม่ได้ว่า ไม่ออกแบบส่วนด้ามให้ดี เวลาสวมปลอกไว้ที่ตัวด้ามมันเข้าร่องดังแกร๊ก แต่ไม่เน่นเอาซะเลย ปลอกยังหมุนได้เป็นกังหัน เวลาจับเขียน คลิปที่ปลอกก็จะหมุนแป๊ะลงมาเสียดสีกับมือ สำหรับคนขี้รำคาญก็จะหงุดหงิดเอาได้



ด้ามนี้มาพร้อมกับหลอดสูบหมึกแบบดั้งเดิม สไตล์ฮีโร่ ซึ่งแผ่นยางหลอดหมึกคุณภาพย่ำแย่มาก อาจรั่ววันไหนก็ได้ ดีหน่อยที่ตัวนี้สามารถถอดหลอกหมึกออกได้ วันไหนมันเกิดม้วนเสื่อไป ก็ซื้อหลอดหมึกสำเร็จรูปมาเสียบใช้ได้

เอาละ... สูบหมึกเข้าที่แล้วก็ลองเขียนกันเลย...




อืม... ลื่นดีนะ ลื่นไถลหัวแตกเลย คือไม่ดูดกระดาษแม้แต่น้อย (ปากกาที่มีคุณภาพ จะเกาะกระดาษเล็กน้อย เวลาเขียนจะให้ความรู้สึกหน่วงนุ่ม)
ถามว่าดีไหม

แล้วแต่คนใช้และคนชอบครับ


สามด้ามนี้เป็นล็อตล่าสุดที่ผมซื้อมา จุดมุ่งหมายก็อย่างที่บอกไว้ตอนต้นว่า หามาให้นักเรียนใช้ เพื่อแก้ปัญหาลายมือของพวกเขาและพวกเธอ จึงเน้นที่พอใช้งานได้ ราคาถูก

.

ปากกาหมึกซึม Hero เจ้าตำนาน : Hero 329

หลวมตัวเข้าศึกษาแป๊บเดียวเท่านั้นแหละ ได้เรื่องเลย เพราะดันไปเจอปากกา Hero ปากกาหมึกซึมในตำนานเข้าให้

Hero เป็นปากกาที่คุณพี่ คุณลุง คุณป้า คุณน้า คุณอา รู้จักมักคุ้นเป็นอย่างดี เพราะสมัยโน้นครูจะให้คัดลายมือทั้งไทยและอังกฤษ ว่ากันว่า ที่คนรุ่นนั้นลายมือสวย ก็เพราะอานิสงส์ของการใช้ปากกาหมึกซึมนี่เอง

(ผมเองก็น่าจะเกิดทันค่านิยมดังกล่าว แต่ด้วยความที่เป็นเด็กบ้านนอก เรียนโรงเรียนบ้านนอกคอกคาเม ได้ใช้แต่ดินสอแจกกับสมุดรูปพระเจ้าอยู่หัวเล่มเท่ากระกระด้งก็บุญถมแล้ว)

ปกติผมก็ชอบใช้ปากกาหมึกซึม Fountain Pen หรือสูบหมึกอยู่แล้ว แต่ Hero นี่ ไม่ได้แตะมานานมาก เพราะรุ่นที่นำเข้ามาขายในบ้านเรามันโหลสิ้นดี ไม่รู้เป็นของจริงจากบริษัท เซี่ยงไฮ้ ฮีโร่ เพ็น จำกัด หรือทำเลียนแบบ

ติดสติ๊กเกอร์บอกราคา 40 บาท ซื้อมาลองเล่นก็ไม่เสียหลาย (เมื่อเกือบยี่สิบปีที่แล้ว จำได้ว่าเคยซื้อแค่ 25 บาท ถือว่าราคากระดิกขึ้นนิดเดียว เมื่อเทียบกับเจ้าอื่นๆ) แล้วก็เหลือบไปเห็น Hero อีกสองรุ่น นอนเย้ายวนอยู่ใกล้กัน ด้ามละ 38 บาท




ไม่คิดอะไรมาก... ซื้อมาอย่างละด้ามเลยละกัน ราคานี้ทำหายทำพังก็ไม่เสียดายดี พอนึกถึง LAMY Safari ด้ามละ 980 บาท แล้วก็ให้รู้สึกใจหวามๆ ไม่กล้าเอาไปไหนไกลโต๊ะ เพราะกลัวหาย กลัวพัง นี่ละทุกข์ของคนใช้ของแพงโดยแท้

เป้าหมายหลักคือ จะเอามาให้ลูกนักเรียนคัดลายมือ

เข้าเรื่อง
พอถึงบ้านก็จัดแจงเติมหมึก

เริ่มที่ Hero 329 ปากกาเจ้าตำนานก่อนเลย ตัวปากกาเป็นพลาสติกทึบ หัวปากกาหรือ nib เป็นทองเหลืองเล็กเรียวโผล่ออกมาจากปลายปากกาเพียงนิดเดียว ปลอกหรือฝาเป็นโลหะขัดด้าน เวลาสวมปลอกปิดจะรู้สึกว่าถ่วงน้ำหนักแน่นเข้า ถ้าดันต่อไม่ได้แล้วก็แสดงว่าปิดสนิทแล้ว ซึ่งต่างจากปากกาส่วนใหญ่ที่เวลาปิดปลอกจะต้องดันเข้าจนมีเสียง "แป๊ก"


หลอดสูบหมึกของ Hero 329 ก็ยังเป็นหลอดสูบติดกับตัวปากกาดึงออกไม่ได้ ต่างจากรุ่นอื่นและยี่ห้ออื่นที่ใช้โปร่งสูบและ/หรือใช้หลอดหมึกกันแล้ว

ข้อดีของหลอดสูบก็คือ สูบเสร็จเช็ดหัวปากกาแล้วก็ใช้เขียนได้เลย

เอาละ ทีนี้มาลองเขียนกันดู สัมผัสแรกบอกเลยว่า Hero 329 จับกระชับมือมาก น้ำหนักก็กำลังดี ไม่เบาไม่หนักเกินไป พอจรดหัวปากกาวาดลวดลายบนกระดาษ ผมถึงกับอุทาน อุ๊ คุณพระ!.... มันลื่นอย่างไม่น่าเชื่อ ไม่มีเสียงครูดคราด ฟี้ดฟ้าดระคายหู เส้นหมึกขนาด 0.5 ราบเรียบทุกแนว การไหลของหมึกก็สม่ำเสมอ


คุณภาพหัวปากกา Hero 329 เทียบชั้นด้ามละพันได้สบายๆ ที่ว่าอย่างนั้นเพราะ ลามี่ เซฟเฟอร์ ปากเกอร์ ผมใช้มาหมด ยังไม่มีด้ามไหนเขียนลื่นเท่า Hero 329 ด้ามนี้ (ด้ามอื่นไม่แน่ใจนะ เพราะคุณภาพขึ้นอยู่กับดวงคนเลือกด้วย)


ข้อเสียของ Hero 329 ก็คือ หนึ่ง หัวปากกาทำจากโลหะอ่อน ถ้าตกกระแทกพื้นก็หักสะบั้นลาโลกทันที สอง ด้วยความที่ปลอกเป็นแบบสวมไว้เฉยๆ ไม่ได้กักอากาศ หมึกก็เลยแห้งไว ต้องเขียนบ่อยๆ การทดลอง ผมทิ้งไว้ประมาณห้าหกชั่วโมง หมึกที่หัวปากกาก็แห้งเขียนไม่ออกแล้ว ต้องกดๆ แล้วเคาะเบาๆ ให้หมึกไหลออกมาชะโลม ถึงจะเขียนออก

ดังนั้น ถ้าไม่ได้ใช้งานแนะนำให้บีบหมึกออกแล้วล้างเก็บไว้ ไม่อย่างนั้นหมึกจะแห้งกรังเกาะเป็นคราบปิดทางไหลของหมึก ถึงแช่น้ำและล้างก็ยังตันเขียนไม่ออกอยู่ดี

สรุปแล้ว Hero 329 แม้ไม่ไฮโซเหมือนปากกายี่ห้อแพงๆ แต่คุณภาพในแง่ที่ตอบสนองการเขียนก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าใครเลย

ที่สำคัญ Hero 329 ยังคลองความเป็นปากกา “ในตำนาน” ของใครหลายคน

……….
ครั้งต่อไปจะเล่าถึง Hero อีกสองด้ามที่เหลือ

ตำนานการใช้งานโปรแกรมผลิตสื่อสิ่งพิมพ์

ชีวิตจับพลัดจับพลูยังไงก็ไม่รู้ได้ มีโอกาสจับเครื่อง mac เป็นครั้งแรกเมื่อตอนอายุ ๑๗ (พ.ศ. ๒๕๓๙) แล้วโปรแกรมแรกที่หัดใช้คือ โปรแกรมจัดหน้าหนังสือ!

อีแป้นยกมือทาบอกแล้วถามว่า โปรแกรมจัดหน้าหนังสือคืออะไร...

โปรแกรมจัดหน้าหนังสือคือโปรแกรมผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ชนิดหนึ่ง ตัวที่ผมคุ้นเคยมีชื่อว่า Adobe PageMaker (ล้ำมั้ยล่ะ)

จำได้ว่าอาจารย์พระมหาบวร วัดอาวุธวิกสิตาราม ให้ผมซึ่งในขณะนั้นเป็นสามเณรน้อยช่วยทำหนังสือสวดมนต์ของวัด พอผมนั่งหน้าคอมพิวเตอร์แบบงงๆ ท่านก็สอนการใช้งาน PageMaker ให้คร่าวๆ
ตอนนั้นยังใช้เวอร์ชั่น 4 บน Apple Macintoch classic II จอขาวดำ...ในตำนาน

ภายใต้ระบบปฏิบัติการ OS 6 !!! ...ในตำนาน (อีกเช่นกัน)



ทั้งเครื่องทั้งตัวโปรแกรม ช้าและหน่วงชนิดคนสมาธิสั้นอาจใจขาดตายได้ แต่ในยุคนั้นถือว่าเป็นระบบที่มหัศจรรย์มากเลยแหละ เพราะเป็นคอมพิวเตอร์เจ้าแรกที่ทำงานด้วยการแสดงผลแบบกราฟฟิกและสั่งงานผ่านเมาส์

ที่สำคัญกว่านั้นคือ มันใช้งานกับภาษาไทยได้ดีเยี่ยม




หันไปมองคอมพิวเตอร์ IBM ที่ตั้งอยู่ใกล้กัน ยังใช้ระบบ DOS 6 บนจอเขียว จะใช้ทีก็ต้องเสียบแผ่นเข้าไป เวลาทำงานก็ต้องคีย์คำสั่งมหัศจรรย์อยู่เลย




สามสี่ปีต่อมา ก็ได้ PC ที่ติดตั้ง Windows 3.1 มาให้ใช้ เป็นครั้งแรกที่ผมได้สัมผัส Adobe PageMaker บนฝั่งวินโดว์ ซึ่งก็เป็นเวอร์ชั่น 4 ที่คุ้นเคย




แต่ถ้าอีแป้นรู้อีแป้นคงจะอกแตกตายเป็นแน่แท้ เพราะประสิทธิภาพการทำงานบนฝั่งวินโดว์เทียบกันไม่ติดเลยกับฝั่งแมค ใช้ไปต้องเซฟไป เพราะไม่รู้ว่าวินาทีถัดไปมันจะเดี้ยงแล้วก็กวาดเอางานที่ทำไว้ซะดิบดีหายตามไปด้วยหรือเปล่า ข้างเมาส์ของพี่วินฯ ในยุคนั้นก็ลอยเคว้งคว้างเวลาใช้ก็จะเหมือนบังคับทุ่นเล็กๆที่ลอยอยู่บนพื้นน้ำ ต้องค่อยๆ ขยับ เล็ง และคลิกหรือลาก...

ทรมานทรกรรมเหลือแสน

ที่ต้องเบือนหน้าหนีคือ PageMaker บน Windows ไม่รู้จักภาษาไทย และไม่มีโปรแกรมใดๆ ที่จะช่วยให้มันใช้งานกับภาษาไทยได้ ดังนั้นการใช้งานบนวินโดว์ จึงเอวังแต่เพียงเท่านั้น
ไม่นาน Adobe ก็พัฒนาเวอร์ชั่น 5 ออกมาให้ใช้กันทั้งฝั่งแมคและวินโดว์




เวอร์ชั่นนี้ผมแทบไม่ได้แตะเลย นอกจากเปิดขึ้นมายลโฉมเล่นๆ แล้วก็ปิดไป เพราะมันใช้งานกับภาษาไทยไม่ได้ และดูเหมือนว่าไม่มีบริษัทไหนทำตัวเสริมออกมาให้มันใช้งานกับภาษาไทยได้

การจัดหน้าหนังสือในตอนนั้นก็เลยต้องใช้ PageMaker 4 บนแมคต่อไป ดีหน่อยที่ตอนนั้นได้แมคเครื่องใหม่มาใช้ เป็นรุ่นจอสี (จำรุ่นไม่ได้แล้ว) มาพร้อมกับ OS 7.6 ประสิทธิ์ภาพเร็วขึ้นมานิดหนึ่ง

ยุควินโดว์ 95 มาแรง PageMaker 6 ก็เฟืองฟู

พอไมโครซอฟพัฒนา Windows 95 ยัดลงใน PC ด้วยความเร็วปรู๊ดปร๊าดของมัน ทำให้ผมหันหลังให้ Mac อย่างเด็ดขาด ประกอบกับตอนนั้น Adobe ก็พัฒนา PageMaker 6 ออกสู่ตลาด นักพัฒนาไทยเองก็เด้งรับด้วยการพัฒนา โปรแกรม PageMaster 97 เพื่อช่วยให้ PageMaker 6 ใช้งานกับภาษาไทยได้





ไม่นาน PageMaker 6.5 ก็ออกมาตีคู่ไปกับ Windows 98

เจ้าตัวนี้ครองแชมป์ยาวนานที่สุด ผมใช้ตัวนี้อยู่ห้าหกปี ซึ่งถือว่ายาวนานมาก

พอเข้ายุค WindowsME ต่อด้วย XP พี่ PageMaker ก็ถึงคราวตกอับในหมู่ผู้ใช้ชาวไทย เพราะ PageMaster 97 โปรแกรมตัดคำภาษาไทยไม่ได้รับการพัฒนาต่อให้ใช้กับ Windows ME และ XP เมื่อค่ายต้นสังกัดพัฒนา PageMaker 7 ออกมา จึงแทบไม่มีใครแล

ถ้าจะใช้ PageMaker 7 ก็ต้องทำเหมือนพิมพ์ดีดคือ ออกแบบตัวหนังสือและการจัดวางทุกอย่างให้ลงตัวไปทีเดียว พอพิมพ์เนื้อหาไปจนชิดชอบแล้วก็ต้องกด shift + enter เพื่อปัดขึ้นบรรทัดใหม่เอง ทำอย่างนี้เรื่อยไปทุกบรรทัด (ลองนึกดูว่าถ้าเนื้อหายาวสักร้อยหน้า ต้องนั่งเคาะทุกบรรทัด พอบรรณาธิการหรือลูกค้าสั่งแก้ แก้น้อยไม่กระทบมาก แต่ถ้าแก้เยอะๆ นรกก็มาเยือนละทีนี้ เพราะมันจะขยับยับเยิน ต้องมานั่งเคาะบรรทัดใหม่ทั้งหมด)



ผมเองจึงยังคงใช้ PageMaker 6.5 ในวินโดว์ 98 ต่อไปอย่างพิสมัยในดวงจิต

จนกระทั่งมีบริษัทหนึ่งทำโปรแกรม ก.ไก่ 2002 โปรแกรมตัดคำสำหรับ PageMaker 7 บนวินโดว์ออกมา เจ้าโปรแกรม ก.ไก่นี้ ทางผู้พัฒนากลัวว่าจะมีการแคร็กโปรแกรม จึงได้ทำฮาร์ตล็อกมากันไว้ด้วย เวลาใช้งานโปรแกรม ก็ต้องเสียบฮาร์ตล็อกนี้ไว้ที่ช่อง USB โปรแกรมถึงจะทำงาน สนราคาโปรแกรมและฮาร์ตล็อกที่ 4,500 บาท

ในเมื่ออยากใช้ ผมก็ต้องซื้อละครับ

ถามว่าทำงานดีไหม

โปรแกรมทุกตัวบนวินโดว์สะกดคำว่า “เสถียร” เป็นที่ไหนล่ะ ถ้าไม่ Save บ่อยๆ หายนะก็จะมาเยือนได้ทุกขณะจิตแหละพ่อคุณเอ๋ย

ยิ่งพอใช้ควบคู่กับโปรแกรมตัดคำไทย ก็ยิ่งแล้วใหญ่ ใช้ไปได้สักสามสี่ชั่วโมง มันก็จะเกิดอาการ “มึน" ไม่ตอบสนองการทำงานใดๆ ต้องปิดโปรแกรมทั้งหมด แล้วเปิดใหม่ ถึงจะใช้งานได้...อีกสักพัก...

และแล้ว PageMaker ก็ค้างเติ่งอยู่ที่เวอร์ชั่น 7 เพราะถึงคราวตีบตัน ไปต่อไม่ได้

ปี 2548 ผมเข้าไปทำงานในสำนักพิมพ์แถวประชาอุทิศ ในตำแหน่งบรรณาธิการ ทำให้มีโอกาสได้สัมผัสกับ Mac และ OS ตัวใหม่ในรอบเกือบสิบปีที่นั่น ยิ่งไปกว่านั้น ก็ยังได้สัมผัสกับโปรแกรมจัดหน้าตัวใหม่ที่ชื่อว่า InDesign เป็นครั้งแรก

จาก Adobe PageMaker เข้าสู่ยุค Adobe InDesign CS

ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นกับ PageMaker เมื่อสตีฟ จ็อป โยนระบบ Mac OS ซึ่งตอนนั้นสิ้นสุดที่เวอร์ชั่น 9.2 ทิ้ง แล้วพัฒนาระบบปฏิบัติการตัวใหม่ภายใต้ชื่อ OS X 10.0

ขณะที่ Adobe ก็ไม่พัฒนา PageMaker ต่อ ทำให้มันติดแหง็กอยู่ใน Mac OS 9.2 ไม่ได้ผุดได้เกิดอีกบน OS X อีกต่อไป

แล้วก็ปฏิสนธิโปรแกรมตัวใหม่ชื่อ ​InDesign CS ขึ้นมา หน้าตาและการใช้งานของมันก็คล้ายๆ Illustator ผสม PageMaker




ครั้งแรกที่ผมรู้จัก InDesign CS นั้น Adobe พัฒนามันมาถึงเวอร์ชั่น 2 แล้ว แต่ทั้ง Mac และ PC ก็ยังเจอปัญหาซ้ำรอยเดิม นั่นคือใช้งานกับภาษาไทยไม่ได้ วรรณยุกต์ลอย ไม่ตัดคำภาษาไทยให้ ถ้าหากจะทำงานกับภาษาไทยก็ต้องซื้อโปรแกรมเสริมมาติดตั้ง เรียกว่าโปรแกรม TSP ขายพร้อมกับฮาร์ตล็อกในราคาแพงหูดับ 5,500 บาท

ที่เครื่องของสำนักพิมพ์ มันถูกติดตั้งพร้อมใช้งานอยู่ในเครื่อง แต่ไม่มีใครกล้าใช้มัน หนึ่งนั้นเพราะพนักงานจัดหน้า ไม่มีเวลามานั่งเรียนรู้การใช้งาน สองคือหากใช้มันทำหนังสือสักเล่มแล้วส่งไปทำแม่พิมพ์ที่เรียกว่า เพลต แล้วเกิดมีปัญหาโน่นนี่นั่นขึ้นมา อาจจะต้องเสียเวลาและเสียสมองมางมโข่งกันยกใหญ่ หรือไม่ก็ถึงขั้นนั่งจัดใหม่ ซึ่งไม่คุ้มเสีย

แต่ผมเป็นบรรณาธิการ หน้าที่หลักของผมไม่ได้อยู่ที่ต้องมานั่งจัดหน้าหนังสือ พอมีเวลาผมจึงเริ่มเรียนรู้มัน แล้วก็พบว่า มันใช้งานง่าย ยืดหยุ่นและทำอะไรได้มากกว่า PageMaker ที่ตัวเองเคยปลื้มนักหนาเสียอีก

ผมทดลองใช้และทำหนังสือออกมาเล่มหนึ่ง แล้วทดลองส่งไปทำเพลต... สำเร็จ! ไม่มีปัญหายุ่งยากอะไรเลย

ตรงกันข้าม PageMaker เสียอีกที่มีปัญหาจุกจิกมากมายในขั้นตอนการทำเพลต
นั่นจึงเป็นที่มาของการปฏิวัติการจัดหน้าหนังสือด้วย InDesign ในสำนักพิมพ์แห่งนั้น
ปลายปี 2551 การปลดแอกภาษาไทยครั้งใหญ่ในวงสิ่งพิมพ์ ก็เกิดขึ้นเมื่อ Adobe InDesign CS 4 ถูกพัฒนารู้จักภาษาไทย ทำให้ผู้ใช้งานทั่วไปในบ้านเราใช้งานได้โดยไม่ต้องพึ่งโปรแกรมตำคำภาษาไทยราคาแพงลิบลิ่วอีกต่อไป

ปัจจุบัน Adobe InDesign พัฒนามาถึงเวอร์ชั่น CC 2015 (v.10) แล้ว ขณะเดียวกัน ก็ดูเหมือนว่าจะมาถึงจุดอิ่มตัวอีกครึ่งหนึ่งแล้ว เพราะนับตั้งแต่เข้าเวอร์ชั่น CC ก็แทบไม่มีอะไรใหม่ให้ตื่นตาตื่นใจอีกเลย นอกจากโลโก้ไตเติลเข้าโปรแกรมที่เปลี่ยนได้เปลี่ยนดี เปลี่ยนทุกอัพเดต

Macbook pro ปี 2009 ของผมจึงยังคงใช้ Adobe InDesign CC 2014 อยู่ และไม่เห็นความจำเป็นว่าจะต้องอัพเดต ไปเป็น CC 2015 เพราะไม่ได้ทำงานด้านออกแบบสิ่งพิมพ์โดยตรงแล้ว นานๆ ก็จะใช้งานที นับแล้วปีหนึ่งก็ได้ทำหนังสือหรือสิ่งพิมพ์จริงๆ จังๆ สักครั้งสองครั้งเท่านั้นเอง




ถามว่า ผมเรียนรู้การใช้งาน ทั้ง PageMaker และ InDesign มาจากไหน นอกจากอาจารย์มหาบวรสอน PageMaker ให้คร่าวๆ ในคราวใช้ครั้งแรกแล้ว ก็ไม่มีใครสอนอีกเลย ความเชี่ยวชาญล้วนเกิดจากการลองผิดลองถูก แส่ แถทำไปเรื่อย บางวันผ่านร้านหนังสือก็แวะเข้าไปเปิดๆ หนังสือคู่มือการใช้งาน แล้วก็จำเอามาทำ

พอมีปัญหาอะไรสักอย่างขึ้นมาจากการใช้งาน เราก็มั่วไปจนเจอทางแก้จนได้

ปัจจุบันผมไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์แล้ว ความรู้ทุกที่สั่งสมไว้ ก็เริ่มจะลางๆ เลือนๆ ใครอยากจะเรียนเพื่อนเอาไปประกอบอาชีพ ผมยินดีสอนให้นะ

ศาลเจ้าพ่อขี้หมา


ข้างทางบริเวณนั้นเป็นลานโล่ง เจ้าของที่เขาอุทิศเป็นสาธารณะ ไม่หาผลประโยชน์เข้ากระเป๋าสักแดงเดียว บางวันก็มีตลาดนัด บางคืนก็มีหนังมาฉาย ใครจัดงานบวชงานบุญจะเอามหรสพมาสมโภชน์ก็มาขอใช้
ครั้นอยู่มาก็มีหมาตัวหนึ่ง ผ่าไปขี้ไว้ใต้ต้นฉำฉา ข้างลานสาธารณะนั่นเอง ใครคนหนึ่งผ่านมาเห็นเอา แกกลัวว่าจะมีคนเดินทะเล่อทะล่ามาจะเหยียบกับระเบิดขี้หมาเข้า เลยหักกิ่งไม้แถวนั้นมาปิด พอเป็นจุดสะดุดสายตา ไม่ให้ใครเผลอเหยียบ

คนหลังเดินมาเห็นว่ากิ่งไม้มาอยู่อะไรตรงนี้ พอเข้าใกล้ก็เห็นว่ามันวางทับขี้หมาอยู่ เห็นขี้รำไรๆ ก็รู้สึกมวนท้องมวนไส้ แกเลยไปรานเอากิ่งไม้มากำใหญ่ โปะๆ ลงไปให้มิด

กิ่งไม้ที่รานเอามาครั้งหลังนี้ ติดดอกมามากกว่าใบไปหน่อย แม่ค้าแถวนั้นเห็นเข้าก็นึกว่า คงมีคนเอาดอกไม้ไปไหว้เจ้าที่เจ้าทาง ขอให้ทำมาค้าคล่อง ตนเองก็ค้าขายอยู่จะไม่ไหว้เจ้าที่ก็ท่าจะไม่ได้การ เลยรีบเด็ดเอาดอกไม้แถวนั้นไปวาง แล้วก็อธิษฐาน คนอื่นๆ เห็นเจ้าแรกทำ ก็พากันตามอย่าง จนกระทั่งดอกไม้สุมเป็นกองใหญ่

จากดอกไม้อย่างเดียวก็เริ่มมีพวงมาลัย ธูปเทียน เครื่องเซ่นจำพวกของหวานของคาว น้ำเขียวน้ำแดง และก็เริ่มลือกันว่าเจ้าพ่อใต้ต้นฉำฉาท่านศักดิ์สิทธิ์นัก ขออะไรเป็นเห็นผลในสามวันเจ็ดวัน

ชาวบ้านที่รู้ข่าว ก็แห่มาขอโชคขอลาภกันใหญ่ บางคนกลับไปถูกหวยก็ว่าเจ้าพ่อท่านขลัง บางคนถูกกินก็ว่าโชคยังไม่ถึงรอบตัวเอง ต้องหาของไปไหว้บ่อยๆ

นานเข้าก็มีคนเห็นว่า เอาดอกไม้มากองสุม เอาเครื่องเซ่นมาวางพื้นอย่างนี้ ดูไม่สมกับเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านเคารพบูชา ควรจะสร้างศาลให้เป็นกิจจะลักษณะเสียที จึงเรี่ยรายเงินกันมาได้ก้อนหนึ่ง แล้วว่าจ้างช่างให้สร้างศาลขึ้น ตัวศาลก่ออิฐโบกปูนและตกแต่งเสียสวยงาม มองดูขลังกว่ากองดอกไม้เป็นไหนๆ ผู้คนที่สัญจรผ่านไปมาก็ต้องยกมือขึ้นจบไหว้และให้ความยำเกรง

ฝ่ายเจ้าหมาซึ่งแต่เดิมเคยขี้ไว้ตรงนั้น ก็ยึดเอาศาลนี้เองเป็นที่อยู่และที่กิน ใครไปใครมาก็จะเห็นว่ามันนอนหลับปุ๋ยอยู่บริเวณใดบริเวณหนึ่งในศาลนั่นเอง




ฝนฝืนฟ้า

วรรณศิลป์แม่ค้า :


ถ้าถามคอกาแฟโบราณ ย่านพุทธมณฑลสาย 2 ฝั่งศาลาธรรมสพน์ คงไม่มีใครไม่รู้จักป้าแม่ค้าคนนี้ แกจอดรถเข็นขายกาแฟอยู่ปากซอย 34 ฝีมือชงกาแฟและเครื่องดื่มพวก ชาเย็น นมเย็น ของป้าถึงรสถึงชาติดีมาก กาแฟถุงหนึ่ง ชาวบ้านร้านอื่นเขาขาย 20 บาท แต่ป้ายังยืนพื้น 18 บาท ถ้าเผลอสั่งโอเลี้ยง ก็จะรู้ว่าถุงแค่ 15 บาท

ผมส่งแบงค์ 20 ให้ แล้วสำทับทุกทีที่แกจะทอนว่า “ไม่ต้องทอนหรอกป้า ช่วยกันทำมาหากินครับ"


คืนหนึ่ง ปลายเดือนธันวาคม 57 ผมกำลังจะนอนอยู่แล้ว ฝนก็ดันโปรยลงมาเหมือนจะหยอกเอินกันเล่น ผมรีบออกไปเก็บผ้าที่ระเบียง เช็ดหัวที่เปียกนิดหน่อยแล้วล้มตัวนอน ตื่นเช้ามาก็รู้สึกตัวครั่นเนื้อครั่นตัว แล้วก็สะบัดร้อนสะบัดหนาวอยู่อย่างนั้นทั้งวัน ต้องประคองมันไว้ด้วยพาราเซตามอล


วันต่อมาผมปรารภเรื่องนี้ให้ป้าแกฟังว่า “ฝนหลงฟ้านี่มันเอาเชื้อโรคมาด้วยเนาะป้า คืนก่อนผมโดนฝน เมื่อวานจับไข้ทั้งวันเลย"


ป้าแกก็เสริมว่า “ใช่ ฝนฝืนฟ้า มันจะหอบโรคภัยไข้เจ็บมาด้วย ต้องระวังหน่อย"


อืมมมม... “ฝนฝืนฟ้า” ป้าเล่นคำซะสวยเชียว


ผมเก็บคำนี้มาละเลียดกับกาแฟ และตีความอยู่นานมาก นึกถึงคำที่ตัวเองใช้คือ “ฝนหลงฟ้า” เทียบกับคำว่า “ฝนฝืนฟ้า” ที่ป้าแกใช้ ผมถึงกับขนลุกเกรียว


“ฝนฝืนฟ้า” มีนัยยะลึกล้ำและเข้ากับปัจจุบันมาก


--ขอตัวไปซื้อกาแฟก่อนนะครับ

เล่นเว็บใน Mac แล้วรู้สึกว่า font มันไม่สวยหรือว่าอ่านยากไหม มาแก้กันเลย

เวลาซื้อเครื่องมา แล้วเปิดใช้งาน เข้าเว็บ font ตัวหนึ่งที่เป็นปัญหากับการแสดงผลภาษาไทยในแมคมากๆ คือ Tahoma ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่า ทางค่าย apple จะใส่มันมาทำไม เพราะตัวเองก็มีฟอนต์ไทยสวยๆ อยู่แล้ว คือ Thonburi


ที่ขุ่นเคืองใจที่สุดคือ apple อุปโลกน์ให้ฟอนต์ Tahoma เป็นฟอนต์แสดงผลหลักใน Safari ซึ่งเป็นเว็บเบราเซอร์ของแอปเปิ้ลเอง ผลคือ เครื่องไฮโซมาก แสดงผลคมกริบ แต่ฟอนต์ไทยที่แสดงเห่ยสุดๆ หาความงามมิได้เอาเสียเลย


ดังนั้น เราต้องทวงความ ไฮโซ กลับคืนมาให้แมคของเรา ด้วยการ "ปิดฟอนต์ Tahoma" ไปซะ  พอปิดแล้ว เว็บเบราเซอร์ จะไปเรียกฟอนต์อีกตัวมาใช้แทน นั่นคือ Thonburi ฟอนต์ฮีโรของเรา


มาลุยกันเลย...




"ถอดรหัสวันวิสาขบูชา" ความจริงบางประการที่ชาวโลกควรรู้ในฐานะเป็นวันพุทธศาสนาโลก


สามเหตุการณ์สำคัญในวันวิสาขบูชา มีนัยยะที่ไม่อาจมองข้ามอย่างเด็ดขาด

วันเพ็ญเดือน ๖ ปีจอ เจ้าชายแห่งศายวงศ์ ประสูติอย่างฉุกละหุกกลางป่าลุมพินี ชายแดนระหว่างเมืองของพระบิดากับเมืองพระมารดา (ปัจจุบันเป็น ตำบลรุมมินเด แขวงเปชวาร์ ประเทศเนปาล) อีก ๕ วันต่อมาทรงได้รับขนานพระนามว่า สิทธัตถะ

๓๕ ปีหลังจากนั้น วันเพ็ญเดือน ๖ ปีระกา เจ้าชายสิทธัตถะในเพศนักบวช ทรงบรรลุโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่โคนต้นอัสสัตถะ ริมแม่น้ำเนรัญชรา (ปัจจุบัน เป็นเมืองพุทธคยา รัฐพิหาร)

ผ่านไป ๔๕ ปี ในวันเพ็ญเดือน ๖ ปีมะเส็ง พระพุทธศาสดา ผู้บัดนี้มีพระชนม์ ๘๐ พรรษาแล้ว ทรงทอดสังขารขันธ์ลงใต้ต้นสาละคู่ในป่าสาละ เมืองกุสินารา เสด็จดับขันธปรินิพพาน ท่ามกลางเหล่าสาวกและศาสนิกชน (ปัจจุบันเป็นเมืองกุสีนคระ)

สามเหตุการณ์ที่บรรจบลงในวันนี้ มีนัยยะสำคัญที่น่าพิจารณาอยู่ไม่น้อย

หนึ่ง… เหตุการณ์ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน บอกอะไรแก่ชาวโลก
สอง… มีปริศนาหรือรหัสอะไรอยู่ในคำว่า วันประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน ของพระพุทธเจ้า

……………………………………..

หนึ่ง… วันแห่งการลืมตาดูโลกของบุคคลที่จะสั่นสะเทือนโลกด้วยกงล้อแห่งธรรม ในอีก ๓๕ ปีข้างหน้านั้น เกิดขึ้นอย่างฉุกละหุกในป่าชายแดนเมืองกบิลพัสดุ์คาบเกี่ยวกับเมืองเทวทหะ เป็นเรื่องน่าพิจารณายิ่ง

เรื่องประสูติกาลของเจ้าชายน้อยเป็นเรื่องใหญ่ของทั้งสองตระกูล พระญาติทั้งสองฝ่ายก็ต้องเตรียมการรับครรภ์และรับขวัญกันพรักพร้อมอยู่แล้ว ข้างหมอหลวงก็ต้องคำนวณเวลาชัดเจนแล้วว่าจะคลอดกันช่วง แต่สุดท้ายทารกน้อยก็เคลื่อนจากอุทรพระมารดาขณะเร่งเสด็จกลับเมืองเทวทหะเพื่อคลอดตามประเพณี เล่นเอาคุณเท้าคุณกำนัลฉุกละหุกชุลมุนกันกลางป่า

เมื่อมาพิจารณาคำสอนของพระพุทธเจ้า พระองค์ก็ทรงเตือนอยู่เสมอว่า การเกิดเป็นปฐมบทของความทุกข์ และตัวทุกข์ทั้ง ๑๒ ชนิด มันก็พร้อมจะเล่นงานสัตว์โลกได้ทุกเมื่อ ไม่เลือกวันเลือกสถานที่ ไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้า เหตุปัจจัยเอื้อเมื่อไหร่ก็ถล่มโครมลงมาทันที

การประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ จึงเหมือนการเบิกโรงมหสพแห่งทุกข์ให้ชาวโลกดู ว่าทุกมันเป็นเยี่ยงนี้ มันเกิดขึ้นเช่นนี้ จะตั้งประรำทำพิธีไว้รอท่าว่าเจ้าต้องเกิดตรงนี้ เวลานี้ ย่อมเป็นไปไม่ได้

วิธีรับมืออย่างทีที่สุด พระองค์ก็ทรงสั่งเสียไว้แล้วในนาทีสุดท้ายก่อนปรินิพพานว่า "ชีวิตสังขาร เสื่อมลงอยู่ตลอดเวลา พวกท่านจงอย่าประมาท เร่งระงับดับทุกข์ให้หมดสิ้นโดยเร็วเถิด"


๒๙ ปี กับชีวิตที่สุขสบาย มีทรัพย์สมบัติ การศึกษา ครอบครัว เพียบพร้อมทุกอย่าง และอนาคตอันรุ่งโรจน์กำลังรออยู่ แต่เจ้าชายทรงเห็นว่ามันมองไม่เห็นจุดหมายปลายทางที่เป็นแก่นสารอะไรเลย ยิ่งอยู่กับมันก็ยิ่งเบื่อหน่าย วันหนึ่งก็ตัดสินพระทัยหักดิบชีวิตตนเองเสด็จออกผนวช ห่อกายด้วยผ้าเก่าๆ อาศัยหลบแดดฝนใต้ต้นไม้และโคนไม้ ในมือมีกระเบื้องใบหนึ่งสำหรับขอข้าวชาวบ้านกินไปวันละมื้อ ใช้ชีวิตกลับด้านกันสุดขั้ว

๖ ปี ที่มุมานะชนิดเอาชีวิตเข้าแลก กระทั่งค้นพบ "ทางสายกลาง" อันเป็นทางที่จะขจัดทุกข์สร้างสุขที่แท้จริงขึ้นมาได้ ย่ำรุ่งขึ้นวันเพ็ญเดือน ๖ ก็ทรงบรรลุโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในที่สุด

พระองค์ใช้คำว่า อยู่จบพรหมจรรย์ คือค้นพบความสุขที่แท้จริง มีจิตใจผ่องใสปราศจากกิเลส ไม่มีการเวียนเกิดเวียนตายชดใช้เวรกรรมอีกแล้ว ช่วงเวลาที่เหลือหลังจากนั้น คือการช่วยเหลือสัตว์โลก

เหตุการณ์การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เป็นอีกฉากหนึ่งที่น่ายกมาพิจารณาว่า แม้ยังไม่ตรัสรู้ สิ่งที่คนทั่วไปมองว่าคือสุข พระองค์ก็มองกลับด้านว่ามันคือทุกข์ เรื่องที่คนทั่วไปมองว่ามันคือความสำเร็จในชีวิต พระองค์กลับมองว่ามันคือเรื่องหาสาระมิได้และถ่ายเททุกข์มาถมตนเองไม่มีที่สิ้นสุด เข้าลักษณะ "หวังสร้างสุขอนันต์แต่กลับเพิ่มทุกข์มหันต์"

นั่นเป็นขั้นปรมัตถ์เหนือโลกีวิสัยอยู่บ้าง แต่ในการใช้ชีวิตอย่างสามัญ ขอเพียงมีคนมองชีวิตตามความจริง เห็นอย่างที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงเห็น เราก็ยังคงไม่หาเรื่องเพิ่มทุกข์กันได้ไม่เว้นวัน ประเทศชาติคงสงบสุขขึ้นทันตาเห็น


ช่วงเวลาหลังจากตรัสรู้ พระพุทธเจ้าทรงอุทิศเวลา สติปัญญา และเรี่ยวแรงทั้งหมดเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย ตลอด ๔๕ ปี ทรงตรากตรำพระวรกาย มีเวลาพักผ่อนวันละ ๔ ชั่วโมงเป็นอย่างมาก บางวันถึงกลับไม่ได้บรรทมเสียด้วยซ้ำ (เช่น คืนที่ไปโปรดชัมพุกาชีวก) หลายครั้งที่โรคเก่ากำเริบ (สันนิษฐานว่าเป็นโรคกะเพาะเรื้อรัง อันเนื่องมาจากอดอาหารในช่วงบำเพ็ญทุกรกิริยา) แต่ก็ไม่ทรงผ่อนภาระกิจเพื่อผู้อื่นลงเมื่อแต่น้อย

ประคองสังขารมาจนพระชนมายุ ๘๐ ถือว่าไม่ง่ายเลย

วันสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพ ทรงทอดสังขารขันธ์ลงใต้ต้นสาละคู่หนึ่งในดงไม้สาละ จากนั้นก็ไม่เหลือเรี่ยวแรงจะลุกขึ้นได้อีก ก่อนจะปรินิพพานยังทรงพร่ำเตือนสาวกว่า ชีวิตเป็นเช่นนี้ ไม่ควรยึดถือเป็นตัวตน

แล้วก็ตรัสสั่งเสียเป็นปัจฉิมโอวาทว่า "วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ : ชีวิตสังขาร เสื่อมลงอยู่ตลอดเวลา พวกท่านจงอย่าประมาท เร่งระงับดับทุกข์ให้หมดสิ้นโดยเร็วเถิด"

สิ้นกระแสพระดำรัสก็ทรงระงับพระโอษฐ์ พริ้มพระเนตรลงจนสนิท เสด็จดับขันธปรินิพพาน

ปิดฉากมหรสพแห่งทุกข์โรงใหญ่อย่างหมดจดสมบูรณ์

สิ่งที่น่าพิจารณาก็คือ พระพุทธเจ้าพร่ำสอนเรื่องความทุกข์เพราะเกิด แก่ เจ็บ และตาย เรื่องความไม่เที่ยงแท้ของสิ่งทั้งปวง เรื่องความไม่เข้าไปยึดถือเอาเป็นตัวกูของกูมาตลอดพระชนม์ชีพ ในบั้นปลาย ก็ยังทรงใช้สรีรสังขารของพระองค์เป็นครูให้ทุกคนได้เรียนกันสดๆ นับเป็นศาสดาเพียงองค์เดียวที่แสดงการตายจริงให้ชาวโลกดู

นั่นก็เพื่ออะไร?

……………………………………….

สอง... ในอีกมุมหนึ่ง หากคิดในแง่ที่ลึกซึ้งเข้าไปอีก สามเหตุการณ์บรรจบนี้ น่าจะเป็นปริศนาธรรมที่คนโบราณตกทอดไว้ให้คนรุ่นหลังช่วยกันถอดรหัส

กลุ่มที่มองเช่นนี้ คือนักปราชญ์เซ็น ของพุทธศาสนามหายาน เซ็นตีความว่า การประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน เกิดขึ้นในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีระกา คือวันที่พระโพธิสัตว์ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

การประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน ไม่ได้หมายถึงเหตุการณ์ทางกายภาพ แต่เป็นเหตุการณ์ทางสภาวธรรม นั่นคือ
ความเป็นพุทธะหรือโพธิญาณได้เกิดขึ้นหลังจากที่พระโพธิสัตว์ตรัสรู้แล้ว

การตรัสรู้อันนั้นสว่างวาบขึ้นมาก็เพราะปัญญาของพระองค์ได้ทำลายกิเลสให้มอดไหม้ไปหมดสิ้นแล้ว

ข้อนี้ ท่านพุทธทาสก็กล่าวไว้ว่า "พูดในภาษาท่ีลึกกว่านี้ คือภาษาธรรมแล้ว เรื่องก็จะกลาย เป็นว่า ที่แท่นั้นการประสูติ การตรัสรู้ กับการปรินิพพานนั้น มันมีความหมายอย่างเดียวกัน. …ประสูตินั้นคือ ความเป็นพระพุทธเจ้าได้เกิดขึ้น, ความเป็นพระพุทธเจ้าได้เกิดในขณะที่ พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้. ทีนี้การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้านั้น จะมีได้ต่อเมื่อกิเลสมันสิ้นไป ที่เรียกว่า กิเลสนิพพาน หรือตัวกูมันนิพพาน..."

…………………………………..

ทั้งสองนัยยะดังกล่าว เป็นการเสนอแนวคิดสวนกระแสสามัญอยู่บ้าง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือการกะเทาะผ่านกระพี้เข้าไปถึงเนื้อใน และแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา

ชักชวนชาวพุทธมายกระดับวันวิสาขบูชาให้สูงขึ้นกว่าการเป็น "ประเพณี" กันเถอะ


ความรู้เสริม
การนับเดือนในสมัยโบราณของอินเดีย เรียกเดือน ๖ ว่า "เดือนวิสาขะ"
ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ เป็นวันสุดท้ายของเดือนที่พระจันทร์เสวยวิสาขฤกษ์ เต็มดวงสะท้อนแสงสว่างอวดฟ้า เรียกว่า วิสาขปูรณมี